เมื่อวันที่ 8 ต.ค.65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยในการลงพื้นที่ "ผู้ว่าฯ กทม. สัญจร เขตดินแดง” เพื่อรับฟังภาพรวมการบริหารจัดการ ปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตว่า เขตดินแดงเป็นเขตที่มีผู้ใช้แรงงาน และชุมชนจำนวนมาก จากการสอบถามเรื่องปัญหายาเสพติด พบว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข จำนวน 69 แห่ง ได้ให้คำปรึกษาและให้ยาอย่างต่อเนื่อง แต่มีศูนย์ฯ ที่ให้บริการรักษาโดยตรงผ่านคลินิกก้าวใหม่ จำนวน 18 แห่ง เน้นให้การรักษาผู้เสพเฮโรอีน และยาบ้า นอกจากนี้ยังมีบ้านพิชิตใจซึ่งให้การรักษาแบบพักค้าง ระยะเวลารักษา 1 เดือน และรพ.ตากสิน รวมแล้วมีสถานพยาบาลในสังกัด กทม. จำนวน 20 แห่ง มีผู้เข้ารับการบำบัดและรักษา จำนวนกว่า 1,000 คน ทั้งนี้พบว่าผู้ที่ติดเฮโรอีนจะรักษาด้วยการให้ยาอื่นทดแทน ซึ่งมีสัดส่วนผู้ติดเฮโรอีนมากถึง 80% และสำหรับยาบ้าไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ต้องใช้วิธีการรักษาด้วยใจ มีสัดส่วนผู้ติด 20%
ในส่วนของปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จากการรายงานของเจ้าหน้าที่พบว่าหลายบ้านมีการปลูกกระท่อมและกัญชา โดยประชาชนเชื่อว่าสามารถลดความดันและรักษาโรคเบาหวานได้ เมื่อกินแล้วจะไม่ต้องรักษาตามแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดว่าได้ผลตามหลักวิทยาศาสตร์หรือไม่ หรือดีขึ้นในแง่จิตใจเท่านั้น รวมทั้งต้องเก็บข้อมูลว่าการใช้แพทย์ทางเลือกกับการลดยาแผนปัจจุบันจะมีผลบวกหรือลบอย่างไร ซึ่งในพื้นที่มีคนใช้แรงงานจำนวนมาก ถือเป็นกลุ่มตัวอย่างหนึ่งที่ศึกษาได้ นอกจากนี้ยังกำชับให้เฝ้าระวังในโรงเรียนด้วย เนื่องจากหลายบ้านทำการปลูกกัญชาและใบกระท่อม จะทำให้เยาวชนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้อง และข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูแลความปลอดภัยในการเข้าถึงพื้นที่โรงเรียน และสถานที่อื่นด้วย อาทิ พื้นที่ศูนย์บริการสาธารณสุข เนื่องจากจะมีผู้เสพยามารับยาทุกวัน
• นโยบายดูแลเส้นเลือดฝอยเข้มข้น ลดปัญหาน้ำในภาพรวมได้ดี
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงภาพรวมการบริหารจัดการน้ำท่วมว่า ที่ผ่านมาได้ใช้นโยบายเน้นเส้นเลือดฝอยในพื้นที่ ทำการลอกท่อต่อเนื่อง พบว่าปัญหาน้ำดีขึ้นมาก รวมทั้งได้ให้สำนักการระบายน้ำดูแลระบบการระบายน้ำในภาพรวมควบคู่ไปด้วย ในส่วนของเขตดินแดงต้องดูในพื้นที่ด้านหลังม.หอการค้า และถนนประชาสงเคราะห์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ต้องเฝ้าระวัง
สำหรับแผนการจัดการน้ำ ในขณะนี้ที่กังวลคือฝั่งตะวันออก ซึ่งได้เสนอในที่ประชุมคณะกรรมการจัดการน้ำ เพื่อใช้อุโมงค์ระบายน้ำที่นอกพื้นที่ กทม. ในการหารือกรมชลประทานแจ้งว่าจะระบายผ่านประเวศ เพื่อออกแปดริ้ว โดยกรมชลประทานจะทำคันป้องกัน ซึ่งกทม.ก็เห็นด้วย และ กทม.ได้เสนอการทำประตูน้ำ/เขื่อนให้ครบ แบ่งเป็นแผนระยะ 1-2 ส่วนใหญ่อยู่ในแผนการดำเนินงาน ปี 67-68 ในระหว่างปี 66 ก็จะใช้วิธีการขุดลอกเช่นเดิม
“จริง ๆ แล้ว หากดูพื้นที่ลาดกระบัง แนวคิดของกรมชลประทานจะทำเขื่อนป้องกันในคลองต่าง ๆ เพื่อช่วยให้น้ำออก ซึ่งจะทำได้ดีไม่แพ้อุโมงค์ กทม.ก็เคารพในข้อเสนอของกรมชลประทาน แต่ขอให้มีการระบาย 50 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยที่ไม่กำหนดระยะเวลา เพื่อให้เราสามารถนำน้ำออกได้ด้วย ซึ่งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดทุกหน่วยงานและตั้งคณะกรรมการย่อย เพื่อติดตามความก้าวหน้าทุกโครงการและให้เร่งบรรจุทุกโครงการในแผน มีการวางแผนภาพรวมระยะ 20 ปี คาดว่าจะปรับปรุงภาพรวมการระบายน้ำได้ดีขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
• ข้อมูลพื้นฐานสำนักงานเขตดินแดง
เขตดินแดงมีพื้นที่ 8.354 ตร.กม. ประชากรทั้งหมด 1.1 แสนคน ชุมชน 23 แห่ง หนาแน่นที่สุดที่แฟลตเคหะชุมชนดินแดง มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 3 แห่ง ลานกีฬา 33 ลาน และศูนย์บริการสาธารณสุข 2 แห่ง
จุดเสี่ยงน้ำท่วม 2 จุด คือ ถนนประชาสุข และถนนประชาสงเคราะห์ (หอนาฬิกาแฟลต 28) และมีจุดเฝ้าระวัง 4 จุด ได้แก่ ซอยชานเมือง ปากซอยประชาสงเคราะห์ 27 ปากซอยสุทธิพร 2 และซอยอินทามระ 45 ซึ่งเขตฯ ดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยขุดลอกคูคลอง ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำครบ 100% ตามแผน มีการขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตพญาไท เพื่อเร่งระบายน้ำในจุดเสี่ยงและจุดอ่อน แก้ไขจุดเชื่อมต่อท่อระบายน้ำถนนวิภาวดี ซอยวิภาวดี 2 และสร้างประตูกันน้ำย้อนบริเวณคลองยายสุ่น ซอยชานเมือง
สำหรับในช่วงบ่าย ผู้ว่าฯ ชัชชาติ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ชุมชนซอยแสนสุข ซอยประชาสงเคราะห์ 24 ถนนประชาสงเคราะห์ เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานสมาคมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน กองทุนแม่ของแผ่นดิน ชุมชนแสนสุข ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชน และรับฟังปัญหาของชุมชน ณ อาคารศูนย์กลางเทวา ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้สอบถามแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ และมาตรการดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาและศูนย์เด็กเล็ก โดยชุมชนได้รายงานปัญหาในพื้นที่ซึ่งปัญหาที่ชุมชนขอให้ผู้บริหารพิจารณาดำเนินการคือ ค่าอาหารกลางวันเด็ก และสวัสดิการของครูอาสา
จากนั้น คณะได้ลงพื้นที่บริเวณตลาดห้วยขวาง ถนนประชาสงเคราะห์ เพื่อติดตามปัญหาการจราจร ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณจุดที่ทำการค้า ติดตามความคืบหน้าโครงการงานก่อสร้างรางระบายน้ำ ค.ส.ล. ถนนประชาสงเคราะห์ ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ และถนนประชาสุข ช่วงจากคลองนาซองถึงคลองห้วยขวาง (2 ฝั่ง) ต่อมาได้ลงพื้นที่ถนนอินทามระ บริเวณจุดที่มีน้ำท่วมขัง/รอการระบายในช่วงที่เกิดฝนตกหนัก และรับฟังปัญหาของประชาชน
ทั้งนี้ในการลงพื้นที่ผู้ว่าฯ สัญจร เขตดินแดง ครั้งนี้ มีผู้บริหาร กทม. พร้อมด้วยนายชูชาติ พุ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตดินแดง ผู้บริหารเขต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกทม. และสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ ประกอบด้วย สน.ดินแดง สน.ห้วยขวาง และสน.สุทธิสาร ได้ร่วมติดตามลงพื้นที่ เพื่อให้ข้อมูล และรับฟังปัญหาเพื่อนำไปดำเนินการแก้ไขในส่วนภารกิจที่หน่วยงานรับผิดชอบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น