สำหรับการประชุมวันนี้ มีการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นออกเป็น 6 กลุ่มเขต โดยมีรองปลัดกรุงเทพมหานคร 5 ท่าน และมี นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครสูง ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งที่สำนักการระบายน้ำมาก่อน เป็นหัวหน้าทีม และมีปลัดกรุงเทพมหานครกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งมีการสรุปปัญหาที่เกิดจากฝนตกหนักที่ผ่านมา ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. จุดอ่อนน้ำท่วมในพื้นที่ ในรอบที่ผ่านมา รวมทั้งในปี 2564 2. ปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา เช่น วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ และ 3. ข้อมูลที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในปีต่อไป ซึ่งจะมีการสรุปข้อมูลในภาพรวมทุกกลุ่มเขตและทำให้เป็นระบบ ระบบนี้ คือ จะทำอย่างไรให้น้ำในพื้นที่เขตระบายลงคลองหลักให้เร็วที่สุด
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งว่าตอนนี้เป็นช่วงที่สถานการณ์ยังร้อน เรายังรู้ข้อมูลว่าตรงไหนน้ำท่วม ตรงไหนน้ำไม่ท่วม วันนี้จึงจัดประชุมถอดบทเรียนสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมามีฝนตกมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยประมาณ 5 เท่า ในพื้นที่ กทม. ประมาณ 800 กว่ามิลลิเมตร มี 2 จุดใหญ่ ๆ ที่มีฝนตกมากในเดือน ก.ย. คือ พื้นที่เขตหลักสี่ บางเขน ดอนเมือง และพื้นที่เขตลาดกระบัง ประเวศ
“พอถอดบทเรียนได้ เราจะได้หัวข้อว่า เราจะต้องทำแบบไหน อย่างไรบ้าง ผมว่าผู้ปฏิบัติจริงผู้ทำงานจริงจะเห็นปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ได้ดีกว่า ประสบการณ์ทำให้รู้ว่าเราต้องทำอย่างไร ผมว่าวันนี้ จากประสบการณ์ของท่านรองปลัดแต่ละท่าน ผู้อำนวยการเขต และสำนักการระบายน้ำ มารวมหลอมกัน ซึ่งจะได้ข้อสรุปที่ทำให้น้ำท่วมน้อยลง” ปลัดขจิต กล่าว
สถานการณ์น้ำในปัจจุบันยังมีบางแห่งมีน้ำท่วมขังในซอย ประมาณ 5-6 เขต เช่น พระโขนง ประเวศ ลาดกระบัง เมื่อคืนมีฝนตกหนักที่หนองแขม บางแค มีน้ำท่วมเล็กน้อยบางเส้นทางซึ่งไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา น่าจะไม่เกินวันที่ 10-11 ต.ค. จะมีฝนน้อยลงไปอีก เกณฑ์เฉลี่ยของฝนเดือนตุลาคม ปกติจะตกไม่มากไม่ถึง 100 มิลลิเมตร ประมาณ 50-60 มิลลิเมตร คาดการณ์ว่าแนวโน้มฝนตกน่าจะดีขึ้น ในส่วนของคลองเปรมประชากร ที่มีการไหลของน้ำประมาณ 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ได้ดำเนินการเพิ่มให้เป็น 5-6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยนำสิ่งกีดขวางออกเพื่อทำให้น้ำไหลเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการใช้ระบบปิดล้อม หลักการคือต้องทำให้น้ำออกกับน้ำเข้ามีปริมาณเท่ากัน รวมทั้งคำนวณปริมาณน้ำที่ใช้ตามบ้านเรือน น้ำฝน และน้ำที่สูบออกไปด้วย
ในส่วนของแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีการแตกรั่ว จะทำอย่างไรให้น้ำไม่ไหลเข้าบ้านเรือนของประชาชน ปัจจุบันเขื่อนของ กทม. ที่เริ่มจากนนทบุรี มีความสูงประมาณ 1.50 เมตร ไล่ลงมาเรื่อย ๆ จนมาสุดเขตที่สมุทรปราการ 2.80 เมตร ปัจจุบันระดับน้ำยังต่ำกว่าเขื่อน ยังเชื่อมั่นว่าน้ำเหนือที่ปล่อยลงมาจะไม่ล้นเขื่อน อย่างไรก็ตาม บริเวณจุดฟันหลอ ระยะทาง 2 กิโลเมตรกว่า ๆ ยังมีปัญหา ขอแจ้งประชาชนที่มีแนวรั้วอิฐบล็อกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้แจ้งสำนักงานเขต โทร. สายด่วน กทม. 1555 หรือสำนักการระบายน้ำ โทร. 02 248 5115 เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำกระสอบทรายไปเสริมกันด้านหลังอิฐบล็อกให้แข็งแรง ต้องเตรียมระวังเนื่องจากจะมีการปล่อยน้ำลงมามากขึ้น
สำหรับน้ำเหนือมีอยู่ 2 ส่วนที่อาจส่งผลกระทบกับ กทม. ได้แก่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้แจ้งให้บ้านเรือนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำยกของขึ้นที่สูงได้ทันที โดย กทม. ได้สร้างทางเดินไว้ให้ อีกส่วนหนึ่งคือพื้นที่ที่จะผันน้ำออกไปทางรังสิต หากผันน้ำมาพอดีพื้นที่หนองจอก ลาดกระบังก็จะไม่ท่วม แต่ถ้าผันน้ำมามากเกินก็อาจจะมีปัญหาได้ ปัจจุบันทางกรมชลประทานดูแล กทม. อยู่แล้ว ต้องขอขอบคุณอธิบดีกรมชลประทานด้วย ขณะนี้การผันน้ำเข้าทางด้านตะวันออกของ กทม. ยังอยู่ในระดับปกติ ถ้าช่วงไหนที่น้ำมากผิดปกติ ทางกรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบ และ กทม. จะแจ้งเตือนประชาชนต่อไป ช่วงที่ผ่านมา มีเรือกสวนไร่นาที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย ซึ่งมีสำนักพัฒนาสังคมเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเยียวยาประชาชนในพื้นที่เกษตรกรรม 16 เขตของ กทม.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น