พม. ร่วมแถลงผลสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ & เวทีสัมมนา Child Grooming : ล่อลวงเด็กออนไลน์ ภัยร้ายที่ต้องจบ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2565

พม. ร่วมแถลงผลสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ & เวทีสัมมนา Child Grooming : ล่อลวงเด็กออนไลน์ ภัยร้ายที่ต้องจบ

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 65 เวลา 09.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดงานการแถลงผลสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ และเวทีสัมมนา Child Grooming : ล่อลวงเด็กออนไลน์ ภัยร้ายที่ต้องจบ ซึ่งจัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และภาคีเครือข่าย ทั้งนี้ นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวถึงบทบาท ภารกิจของกรมกิจการเด็กและเยาวชนในการป้องกันคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ อีกทั้งมีผู้แทนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม Sorrento ชั้น 3 อาคาร Grand Palazzo โรงแรม เดอะ พาลาสโซ่ กรุงเทพฯ




นายอนุกูล กล่าวว่า ด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ดำเนินการสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ ระหว่างเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2565 เพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญในการนำมาขับเคลื่อนนโยบายและการปฏิบัติสำหรับงานคุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมทั้งการขับเคลื่อนงานของภาคีเครือข่าย ซึ่งวันนี้มีการจัดเวทีสัมมนา Child Grooming : ล่อลวงเด็กออนไลน์ ภัยร้ายที่ต้องจบ เนื่องจาก Child Grooming คือการสร้างความเป็นมิตร ด้วยการเข้ามาตีสนิทให้เด็กตายใจเพื่อล่วงละเมิดทางเพศในภายหลัง ถือเป็นภัยใกล้ตัวสำหรับเด็กและเยาวชน ที่อาจจะเกิดจากบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ตัว โดยเด็กไม่รู้ตัว หรือไม่อาจคาดเดาเจตนาของผู้กระทำได้ 

ดังนั้น เวทีสัมมนาครั้งนี้ จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพของสถานการณ์ด้านสื่อออนไลน์ที่ส่งผลกระทบทางบวกและลบกับเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งมีการนำเสนอประเด็นสำคัญ ดังนี้  1) บทบาท ภารกิจของ ดย. ในการปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์  โดย นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน  2) การขับเคลื่อนงานคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ ของ สสส. และภาคีเครือข่าย โดย นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนัก 11 (สสส.)  3) เสียงจากเด็ก ผลสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ 2565 โดย ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย 4) 7 ขั้นตอน Child Grooming ภัยร้ายที่เด็กต้องรู้ทัน โดย ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา มูลนิธิศานติวัฒนธรรม และ 5) ความรุนแรงของปัญหา Child Grooming โดย พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีการค้ามนุษย์และคดียาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ 

นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานเพื่อผลักดันให้สังคมไทยมีกลไกที่เข้มแข็งในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการใช้สื่อออนไลน์ ได้มีการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยภาคีเครือข่ายได้เล็งเห็นถึงวิกฤตการณ์ของภัยบนโลกออนไลน์ที่ส่งผลต่อเด็กและเยาวชน เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่ไร้ขีดจำกัด และอาจเป็นช่องทางให้ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีต่อเด็กและเยาวชน หาวิธีการเพื่อแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ  สำหรับภาครัฐได้ดำเนินการแต่งตั้งกลไกคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อน กำกับดูแล และติดตามการขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ และรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ อีกทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือ COPAT (Child Online Protection Action Thailand) เพื่อเป็นหน่วยเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยออนไลน์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน รวมทั้งประสานการดำเนินงานทั้งในระดับนโยบายร่วมกับภาคีเครือข่าย และผลักดันมาตรการให้เกิดการปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย 

นางจตุพร กล่าวว่า กระทรวง พม. โดย ดย. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในทุกมิติ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภัยออนไลน์ที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ด้วยการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ รวมทั้งส่งเสริมและคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กให้ได้รับความปลอดภัยในการใช้ชีวิตบนโลกเสมือน หรือโลกออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยได้กำหนดกรอบนโนยบายในการดำเนินงานด้านสื่อออนไลน์ เริ่มจากการขับเคลื่อนการจัดตั้ง ศปอ.หรือ COPAT ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 และทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ภายใต้คณะกรรมการระดับชาติด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน (กดยช.) 

อีกทั้งการดำเนินงานสำคัญอย่างต่อเนื่อง อาทิ 1) การเฝ้าระวังเว็บไซต์และสถานการณ์การพนันออนไลน์ในช่วงการระบาด COVID - 19 ระลอกใหม่ และการจัดทำ Application “Just Stop Gambling”  2) โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (Healthy Gamer Prevention Model)  3) คู่มือ “เด็กและเยาวชนกับการใช้สื่อดิจิทัล” ทั้งในรูปเล่มและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E - book) และ 4) ซอฟต์แวร์ส่งเสริมการเรียนรู้การรู้เท่าทันดิจิทัลสำหรับเด็ก ผู้ปกครอง และบุคคลแวดล้อม ที่ครอบคลุม 7 ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy Skills) เป็นต้น  

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 กระทรวง พม. โดย ดย. จะยกระดับพัฒนาการดำเนินงานสำหรับเด็กและเยาวชนให้มีทักษะ ความรู้เท่าทันภัยในโลกยุคดิจิทัล เพื่อเป็นปีแห่งการเสริมสร้างเด็กและเยาวชนที่มีความรู้ด้านดิจิทัล หรือ Digital Literacy สามารถอยู่ได้ในสังคมอนาคต พร้อมทั้งบูรณาการการทำงานกับภาคีเครือข่าย เพื่อร่วมกันเป็นรั้วสังคมที่ช่วยพิทักษ์ ปกป้องเด็กและเยาวชน ให้มีความปลอดภัยในทุกมิติ และเป็นพลังสำคัญในการสร้างสังคมคุณภาพ พร้อมก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 5.0  ต่อไป

นางญาณี  กล่าวว่า สสส. มีความมุ่งมั่นในการดำเนินการสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่ดีและสมดุล โดยมีเด็กและเยาวชนคือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการทำให้ปลอดภัยจากสื่อออนไลน์ รวมทั้งการสานพลังกับภาคีเครือข่าย นับเป็นกุญแจสำคัญทำให้เกิดกฎหมายที่ทันสถานการณ์ในยุคโลกผันผวน หรือ VUCA World ที่สื่อและโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดย สสส. จะร่วมผลักดันการดำเนินงานให้เกิดกลไกคุ้มครองเด็กและเยาวชนบนโลกออนไลน์ ให้สอดคล้องกับสื่อยุคดิจิทัล รวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาเครือข่ายสหวิชาชีพในการขับเคลื่อนจังหวัดนำร่องรู้เท่าทันสื่อ  การจัดทำหลักสูตร E - Learning  การขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อให้สังคมเท่าทันสื่อ ตระหนักรู้เรื่องการป้องกันภัยออนไลน์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่กำลังเติบโตมีชีวิตที่ปลอดภัยในระบบนิเวศสื่อที่ดี


ดร.ศรีดา กล่าวว่า ผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ปี 2565 ระหว่างเดือน พฤษภาคม - กรกฎาคม 2565 ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 9 - 18 ปี จำนวน 31,965 คน พบว่า เด็ก ร้อยละ 81 มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง ร้อยละ 64 มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน ร้อยละ 85 ใช้โซเชียลมีเดียทุกวันหรือเกือบทุกวัน ร้อยละ 36 มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม ซึ่งคนร้ายอาจพยายามทำให้เด็กเชื่อว่าตกหลุมรัก อยากคบหาเป็นแฟน ขอภาพลับ นัดพบ ละเมิดทางเพศ และถ่ายรูปข่มขู่แบล็คเมล เข้าข่ายเป็นพฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ (Grooming) ที่ผู้ปกครองและทุกฝ่ายต้องระวัง สำหรับเด็กประถมศึกษาตอนปลายอายุประมาณ 10 ขวบ ถูกกรูม (Groom) ถึงร้อยละ 12 เด็ก โดยร้อยละ 54 เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจาร ซึ่งเป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก ร้อยละ 60 ในขณะที่ เด็กร้อยละ 11 ถูกคุกคามทางเพศ ร้อยละ 26 เคยวิดีโอคอลล์โชว์สยิว นอกจากนี้ การสำรวจครั้งนี้ ยังพบว่า เด็กร้อยละ 26 ถูกกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ (Cyber Bullying) ร้อยละ 75 เล่นเกมออนไลน์ ร้อยละ 11 เคยเข้าเว็บไซต์ผิดกฎหมายหรืออันตราย ร้อยละ 7 เล่นพนันออนไลน์ ร้อยละ 18 จ่ายเงินเพื่อซื้อกล่องสุ่มในเกม ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการพนัน และร้อยละ 18 เคยนัดพบเพื่อนออนไลน์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น