นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ กล่าวขอบคุณ นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ และนายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 4 กันยายน 2565 เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชงและเชิญชวนผู้ประกอบการญี่ปุ่นให้มาลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีการใช้กัญชงเป็นวัตถุดิบ โดยมีนายกิตติพันธุ์ บางยี่ขัน อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายอุตสาหกรรม ณ กรุงโตเกียว ให้การต้อนรับและได้เข้าร่วมประชุมหารือกับ Dr. Yoshiki Akahoshi ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนากัญชงสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอจาก Nihon University และผู้แทนสมาคม Hokkaido Industrial Hemp Association (HIHA) ณ หอประชุมสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
จากนั้นคณะได้เดินทางไปศึกษาดูงานการนำเส้นใยกัญชงมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตสิ่งทอประเภทต่างๆ ณ บริษัท Stylem Takisada-Osaka Co.,Ltd. เขตชิบูย่า กรุงโตเกียว ซึ่งบริษัท Stylem ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสิ่งทอรายใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่นที่เปิดดำเนินการมากกว่า 158 ปี และมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทยด้วย ปัจจุบันบริษัทฯ มีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพของสิ่งทอโดยใช้เส้นใยกัญชงเป็นส่วนผสมตั้งแต่ร้อยละ 20-55 เนื่องจากช่วยเพิ่มคุณสมบัติที่ดี เช่น แห้งไว ช่วยดับกลิ่น ป้องกันแบคทีเรียและรังสี UV เป็นต้น นอกจากนี้ ในการปลูกกัญชงยังช่วยรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ดีเมื่อเทียบกับพืชที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่นๆ โดยงานวิจัยของบริษัทฯ ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NASA) และจะนำผ้าที่มีส่วนผสมของกัญชงไปใช้ผลิตสินค้าต่างๆ ทั้งนี้ บริษัทฯ หวังว่า จะสร้างความร่วมมือทางธุรกิจโดยเฉพาะการใช้วัตถุดิบเส้นใยและเส้นด้ายกัญชงจากประเทศไทยได้ในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้แจ้งถึงแนวโน้มความต้องการของตลาดในกลุ่มที่ให้ความสำคัญด้าน SDG โดยใช้เส้นใยกัญชงที่ได้จากการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ (Organic hemp) และบริษัทฯ ได้สร้าง Brand “ ECOARCH “เฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ด้วย โดยต้องสามารถสอบทวนกลับ (Traceability) ได้ว่า มีกัญชง (Hemp) เป็นส่วนประกอบมากกว่าร้อยละ 20 ปัจจุบัน บริษัทฯ มีสินค้าสิ่งทอประมาณ 2 แสน SKUs (Stock Keeping Units) คิดเป็นความยาวผ้าประมาณ 5 ล้านเมตร มีคู่ค้าประมาณ 4 พันรายและมีร้านจำหน่ายประมาณ 2,900 แห่ง เส้นใยกัญชงที่นำเข้า ส่วนใหญ่มาจากจีน สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส
.
นอกจากนี้ในวันที่ 1 กันยายน 2565 คณะฯ ร่วมหารือและเจรจาความร่วมมือกับผู้ประกอบการญี่ปุ่น 3 ราย ตัวอย่างสินค้าของบริษัท ได้แก่ บริษัท Denba Japan ผู้ผลิตเครื่องขยายอายุและคงคุณภาพอาหารและสินค้าเกษตรที่การเก็บรักษาโดยการแช่เย็นหรือแช่เยือกแข็ง (Cold chain) โดยใช้เทคโนโลยีความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระทำต่อโมเลกุลของน้ำในอาหารและสินค้าเกษตร (Water resonance) และบริษัท C&H Inc. ผู้ผลิตและจําหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเวชภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน CBD จากช่อดอกของกัญชา/กัญชง และบริษัท Kikuya Co.,Ltd. ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องนอน ม่าน มุ้ง ที่ทําจากเส้นใยกัญชง ซึ่งจากการเจรจาทำให้ทราบว่าผู้ประกอบการของญี่ปุ่นมีความต้องการที่จะใช้วัตถุดิบ (เส้นใยและน้ำมัน CBD จากประเทศไทย ซึ่งในอนาคตน่าจะสามารถเชื่อมโยงความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชงระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป
.
จากนั้นวันที่ 2 กันยายน 2565 คณะฯ เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ Innovation Composite Center (ICC), Kanazawa Institue of Technology จังหวัดคานาซาว่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเจรจาความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนาการนำเส้นใยกัญชงไปใช้ในวัสดุเชิงประกอบ (Composite materials)
.
ICC ก่อตั้งเมื่อปี 2014 โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อศึกษาวิจัยการพัฒนาวัสดุเชิงประกอบ หรือ Composite Material จึงมีความรู้ความชำนาญ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการผลิตขึ้นรูปวัสดุเชิงประกอบ โดยเฉพาะ Carbon-fiber composite materials และในปัจจุบัน แนวคิดเรื่อง Green Composite ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม Composite materials เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเร่งทำการศึกวิจัยนำเอาวัสดุเหลือใช้และของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมมารีไซเคิลเพื่อผลิต Composite material รวมทั้งมีการวิจัยเพื่อนำวัสดุชีวภาพมาใช้เป็นวัตถุดิบ ได้แก่ ไม้ไผ่ และเส้นใยธรรมชาติต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการศึกษาเกี่ยวกับการนำเอาเส้นใยธรรมชาติมาใช้ผลิตเป็นวัสดุประกอบร่วมกับ Carbon fiber (เนื่องจากต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิต Carbon fiber ซึ่งมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) 34.0 กิโลกรัม/กิโลกรัม Fiber สูงกว่าการผลิต Natural fiber (1.0 กิโลกรัม/กิโลกรัม Fiber) เป็นอย่างมาก) ซึ่งสถาบัน ICC จึงมีความสนใจที่จะนำเส้นใยกัญชงจากประเทศไทยมาทดลองวิจัยด้านนี้
วันที่ 3 กันยายน 2565 คณะฯ เดินทางไปพบนาย Yoshitaka Chatani (นายกเทศมนตรีเมือง Nanao) และนาย Shigeharu Obayashi (ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเมือง Nanao จังหวัด Ishigawa) เพื่อเจรจาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) กับเมือง Nanao
ปัจจุบันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในเมือง Nanao มีประมาณ 1,500 ราย โดยส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนจะจัดงานสัมมนา Otagai Forum ร่วมกับเมือง Nanao และจังหวัด Ishigawa ในปี 2023 ทั้งนี้ หวังว่าจะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของผู้ประกอบการ และมีการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในด้านอุตสาหกรรมระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น