สั่งโรงเรียนเฝ้าสังเกตอาการในเด็ก ห่วงผลกระทบจากโควิด-19 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2565

สั่งโรงเรียนเฝ้าสังเกตอาการในเด็ก ห่วงผลกระทบจากโควิด-19

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 65 ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพกรุงเทพมหานคร Bangkok Health Emergency Operations Center (ศฉส.กทม. : BHEOC) ครั้งที่ 4/2565 โดยมีคณะกรรมการร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และการประชุมผ่านระบบทางไกล

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมในรองรับการเปลี่ยนผ่านของโรคโควิด-19 สู่ระยะ Post - Pandemic ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 เป็นต้นไป และจะเข้าสู่ระยะ Post - Pandemic ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยเตรียมแผนรองรับและแนวปฏิบัติในการดำเนินการหากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดเกิดขึ้น ซึ่งจะมีการทบทวนมาตรการและการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

สำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย ได้รายงานข้อมูลระบบการติดตามและดูแลผู้ป่วย Long COVID โดยสำนักการแพทย์ได้เปิดคลินิก Long COVID ใน 9 โรงพยาบาลสังกัด กทม. จากข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.ย. 65 มีจำนวนผู้รับบริการทั้งหมด 823 ราย เป็นผู้ชายร้อยละ 33.30 ผู้หญิงร้อยละ 66.70 โดยโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์มีผู้ใช้บริการมากที่สุด 97 ราย สำหรับอายุของผู้มาใช้บริการ อายุมากที่สุดคือ 60-69 ปี รองลงมาคือ 55-59 ปี ส่วนใหญ่จะมีอาการไอ เหนื่อยหอบ หายใจไม่สะดวก เป็นไข้

สำหรับกลุ่มของอาการ Long COVID ในเด็กจะพบน้อยกว่าผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของผลกระทบจากการติดเชื้อของคนในครอบครัวและสังคม โดยจะมีเรื่องของความเครียดจากการเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัว การปิดโรงเรียน ทำให้สูญเสียพัฒนาการทางด้านสังคม โดยมีความชุกในเด็กและวัยรุ่นร้อยละ 25.24 ซึ่งอาการที่พบบ่อย 5 อันดับแรก ได้แก่ ความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น เศร้าซึม วิตกกังวล (ร้อยละ 16.5) อ่อนเพลีย (ร้อยละ 9.66) การนอนหลับผิดปกติ (ร้อยละ 8.42) ปวดศีรษะ (ร้อยละ 7.84) และอาการระบบทางเดินหายใจ (ร้อยละ 7.62) ซึ่งอาจพบอาการผิดปกติตั้งแต่ 4 สัปดาห์หลังการติดเชื้อต่อเนื่องได้ถึง 6 เดือน Long COVID พบได้แม้ในผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการในระยะแรก ในการวินิจฉัย Long COVID ต้องมีอาการต่อเนื่องยาวนานต่อเนื่องถึง 12 สัปดาห์ ซึ่งอาการ Long COVID พบได้แม้ในผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการในระยะแรก

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักการศึกษากำชับให้ครูดูแลและเฝ้าระวังเด็กนักเรียน ซึ่งโรงเรียนควรให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจเด็กเพื่อช่วยให้พวกเด็กมีชีวิตที่ปกติได้ ทั้งนี้ หากพบว่าเด็กมีความผิดปกติ ขอให้แจ้งศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งมีนักจิตวิทยาเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก เพื่อสามารถเข้าไปดูแลเด็กได้ทันท่วงที ลดกระทบต่อพัฒนาการทั้งด้านปัญญาและด้านสังคมในระยะยาวต่อไป

นอกจากนี้ สำนักอนามัยได้รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ซึ่งพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ในช่วงอายุ 5-11 ปีมากที่สุด รองลงมาอายุ 15-34 ปี โดยเฉพาะในช่วงนี้เกิดฝนตกชุก เริ่มมีการรายงานการพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก และโรคชิคุนกุนยา รวมทั้งโรคมือเท้าปากในเด็กเพิ่มขึ้น จึงขอให้สำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์โรคต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมขอความร่วมมือประชาชน สถานศึกษา สถานรับเลี้ยงเด็ก ควบคุมและเฝ้าระวังโรคโดยเคร่งครัดต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น