เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 65 เวลา 18.15 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมงานและเยี่ยมชมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก World RoboCup 2022 ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นผู้สนับสนุนในฐานะ Host City โดยมี รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหg,njารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ร่วมงาน ณ ฮอลล์ 98 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอขอบคุณ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จัดงานครั้งนี้ขึ้น ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับอีก 17 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย กรุงเทพมหานครในฐานะเมืองเจ้าภาพได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ World RoboCup 2022 ครั้งที่ 25 ร่วมกับพันธมิตรเครือข่าย ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันอุดมศึกษา
โดยมีเยาวชน นักศึกษา อาจารย์ และนักวิชาการจากประเทศไทย และ 45 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่จัดขึ้นในประเทศไทย โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลายรูปแบบสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ เช่น หุ่นยนต์เตะฟุตบอล หุ่นยนต์กู้ภัย หุ่นยนต์ใช้ในบ้าน หุ่นยนต์ให้บริการ รวมทั้งมีกิจกรรมให้เด็กทดลองทำหุ่นยนต์ด้วย ซึ่งมีความรู้หลากหลายรูปแบบให้ศึกษา เช่น บูธของประเทศญี่ปุ่นมีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์กู้ภัยมาแสดงเนื่องจากในประเทศญี่ปุ่นมีภัยพิบัติมากมาย
รวมถึงมีเด็กไทยที่เก่งระดับโลกซึ่งพัฒนาใช้หุ่นยนต์เล็กในการกู้ภัย กู้ชีพ ในงานอีกด้วย จึงขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมชมงาน World RoboCup 2022 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้จนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 9.30 น. เป็นต้นไป ณ ฮอลล์ 98, 99, 100 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา สถานที่จัดงานมีความเหมาะสมเนื่องจากเป็นสถานที่โล่ง โปร่ง มีที่จอดรถมากมาย ซึ่งเมื่อเยี่ยมชมงานเสร็จก็สามารถไปเยี่ยมชมของดีจากชุมชนย่านบางนาได้อีกด้วย ซึ่งงานนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีของการเริ่มเปิดเมือง เนื่องจากต่างชาติให้ความมั่นใจในเรื่องของการจัดประชุม การจัดสัมมนา และนิทรรศการระดับชาติของประเทศไทย เป็นการสร้างความมั่นใจในด้านสาธารณสุขของประเทศไทย และขอให้คนกรุงเทพฯ ร่วมกันต้อนรับผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศในฐานะเมืองเจ้าภาพที่ดี
“ในอนาคตเราหนีการใช้หุ่นยนต์ไม่ได้แน่นอน ซึ่งกทม.สามารถนำหุ่นยนต์มาใช้ทำงานได้หลายรูปแบบ เช่น การใช้โดรนตรวจถนนแทนคนเพื่อสำรวจไฟฟ้าดับ สำรวจการจราจร ช่วยดับเพลิง โดยการช่วยลากสายดับเพลิงเข้าไปในที่คับแคบของชุมชนแออัด หุ่นยนต์ช่วยเก็บขยะ ขุดลอกคูคลอง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ทดแทนการทำงานของคน แต่เพราะหุ่นยนต์ทำงานซ้ำได้ ไม่เหนื่อยและไม่หยุด จึงนำมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคนมากกว่า ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า AI (Artificial Intelligence) แต่ผมชอบคำว่า IA (Intelligence Assistant ) มากกว่า คือเป็นผู้ช่วยที่ชาญฉลาด ซึ่งกทม. จะเป็นผู้ประสานภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน ที่จะร่วมเดินไปด้วยกัน เนื่องจาก กทม.ทราบปัญหาก็จะนำมารวมกับเทคโนโลยีของสถาบันการศึกษา เราจะได้คำตอบในการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เป็นการผสมกันระหว่างเทคโนโลยีกับความต้องการที่แท้จริง โดยการใช้ปัญหาของคนเป็นที่ตั้ง ก็จะทำให้ได้คำตอบในการแก้ปัญหาได้ ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในงาน
ทั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ภายใต้ชื่องาน World RoboCup 2022, Bangkok, Thailand โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลักดันการวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์และการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ สร้างกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือในการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในวิชาการด้านหุ่นยนต์ระหว่างสถาบันการศึกษาทุกระดับชั้นรวมถึงหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ทั่วโลก
ซึ่งดำเนินงานร่วมกับหลายหน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ กรุงเทพมหานคร กรมศุลกากร กรมการกงสุล และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีแขกผู้มีเกียรติทสำคัญที่จะมาร่วมงาน อาทิเช่น ผู้บริหารของ International RoboCup Federation จากประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก System Integrators ในประเทศไทยซึ่งต้องการ Transform ตัวเองมาสู่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จึงได้มีแนวคิดถึงการแสดงศักยภาพของ Robotics Cluster ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักของประเทศมหาอำนาจด้านหุ่นยนต์ที่จะเข้าร่วมการแข่งขันทั้ง 45 ประเทศทั่วโลกรวมถึงคนไทยที่เข้าร่วมงาน
โดยภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการแสดงผลงานและผลิตภัณฑ์ทางด้านหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ Robotics & A Exhibitions การจัดงานส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวกับหุ่นยนต์ Robotics Startup & Pitching การแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup Leagues การประชุมวิชาการด้านหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ RoboCup Symposium
การจัดการแข่งขันดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของกรุงเทพมหานคร ทางด้านยุทธศาสตร์และทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับกรุงเทพมหานครเพื่อเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภูมิภาค เน้นย้ำถึงความสำคัญในฐานะ Host City การพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างรายได้เข้าประเทศ สร้างความสามารถในการแข่งขันโดยสร้างอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอย่างยั่งยืนอีกด้วย
#เศรษฐกิจดี
#สร้างสรรค์ดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น