พม. ชูมาตรการดูแลคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง พร้อมจับมือสถานประกอบการพัฒนาศักยภาพ สร้างโอกาส ให้อาชีพ พึ่งพาตนเอง...00 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

พม. ชูมาตรการดูแลคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง พร้อมจับมือสถานประกอบการพัฒนาศักยภาพ สร้างโอกาส ให้อาชีพ พึ่งพาตนเอง...00

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 65 เวลา 09.00 น. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) และนายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ลงพื้นที่สวนรถไฟ กรุงเทพมหานคร เพื่อพบปะพูดคุยเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจคนไร้ที่พึ่งซึ่งเป็นผู้ใช้บริการในความดูแลของหน่วยงานสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ถูกจ้างงานโดย บริษัท พนาทัศน์ จำกัด เพื่อดูแลความสะอาดภายในพื้นที่สวนรถไฟนางสาวแรมรุ้ง กล่าวว่า ปัจจุบัน คนไร้บ้านเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเกิดจากผลกระทบอย่างต่อเนื่องทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 และความขัดแย้งระหว่างประเทศที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ประเทศต่างๆ พยายามที่จะแก้ปัญหานี้ ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนต้องร่วมช่วยกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และระบบสวัสดิการ สำหรับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) รับผิดชอบดูแลกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งดูแลในสถาบันคนไร้ที่พึ่งตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 เป็นการดูแลในรูปแบบสถาบัน มีการดูแลเรื่องปัจจัยพื้นฐาน อาหาร ที่อยู่หลับนอน ยารักษาโรค และการฟื้นฟูศักยภาพ ปัจจุบัน มีคนไร้ที่พึ่งที่อยู่ในความคุ้มครองจำนวนกว่า 4,500 คน ทั่วประเทศ ซึ่งถูกส่งต่อมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกลุ่มที่สิ้นสุดการรักษา ผู้พ้นโทษ สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยอาการทางจิต เป็นต้น โดยการดำเนินงานส่วนใหญ่ของกระทรวง พม. โดย พส. เป็นการเชิญชวนเข้ารับการคุ้มครองในสถานที่ที่รัฐจัดให้ ทั้งอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ โดยความสมัครใจของคนไร้บ้าน เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ซึ่งกระทรวง พม. โดย พส. ได้จัดจัดเจ้าหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ลงพื้นที่เชิญชวนคนไร้บ้านเข้ารับการคุ้มครองดูแล สอบถามสภาพปัญหาและความต้องการ เพื่อจัดบริการต่าง ๆ ตามความต้องการ โดยเบื้องต้นจะให้บริการด้านปัจจัย 4 ประสานการรักษาพยาบาล ส่งต่อไปจัดหางาน และการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ โดยมีนักสังคมสงเคราะห์ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา แนะนำ ประสานด้านสิทธิต่าง ๆ ทำบัตรประชาชน จัดหางาน เยี่ยมบ้าน และส่งกลับภูมิลำเนา เป็นต้นนางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า จากการลงพื้นที่ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร ในปี 2565 พบคนไร้บ้านจำนวน 1,868 คน ในขณะที่การลงพื้นที่เมื่อปี 2562 พบคนไร้บ้านจำนวน 1,033 คน ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด – 19 ที่ทำให้เกิดภาวะการตกงานจากการทยอยปิดตัวของสถานประกอบการรายย่อย ส่งผลให้ไม่มีงานทำและรายได้ จึงไม่มีเงินจ่ายค่าที่พัก และถูกผลักดันออกมาในที่สุด จนเกิดปรากฏการณ์ “คนไร้บ้านหน้าใหม่” เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ปี 2565 กระทรวง พม. จึงได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อจัดบริการที่หลากหลายในการรองรับกับสภาพปัญหาและความต้องการ โดยกลุ่มคนไร้ที่พึ่งส่วนใหญ่ที่ถูกส่งต่อมาจากหน่วยงานอื่น และเข้าสู่การรองรับของสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง ทั่วประเทศ ขณะนี้ (มิถุนายน 2565) มีจำนวน 4,448 ราย ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวง พม. ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยอมรับจะเข้าอยู่อาศัยในสถานที่ที่รัฐจัดให้ และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือทุพพลภาพ โดยรัฐจะต้องไปบำบัด ฟื้นฟู และพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

นอกจากนี้ กระทรวง พม. โดย พส. ได้จัดจุดบริการเชิงรุกในพื้นที่ “จุดประสานงานคนไร้บ้าน” เป็นจุดบริการที่เป็นมิตร ให้บริการคัดกรองโควิด – 19 จัดหางาน ขึ้นทะเบียนคนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อรับสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ บริการส่งกลับภูมิลำเนา และบริการตัดผม เป็นต้น โดยได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผู้มาใช้บริการกว่า 1,989 ราย ทั่วประเทศ อีกทั้งได้ปรับปรุงบริการ “โครงการนวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินบนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน” หรือ “โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา ปรากฎว่า มีคนไร้บ้านสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 21 ห้อง 33 ราย ด้วยรูปแบบการจ่ายเงินเพื่อเกิดความยั่งยืนของโครงการ และวางแผนขยายผลไปตามหัวเมืองรองอีก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี ขอนแก่น และปทุมธานีนายอนุกูล กล่าวว่า สำหรับการจ้างงานคนไร้บ้าน และการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต โดยมีการทำบันทึกความตกลงร่วมกัน หาแนวทางแก้ไขปัญหากลุ่มเปราะบางจิตเวชทั้งระบบ โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการดูแลฟื้นฟูกลุ่มเปราะบางจิตเวช ให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ และไม่เป็นภาระพึ่งพิง ซึ่งเป็นที่มาและต่อยอดความร่วมมือการดำเนินงานพัฒนาคนทุกช่วงวัย “สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้” เป็นการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสถานประกอบการจำนวนกว่า 284 แห่ง เพื่อสร้างโอกาสให้แก่คนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ ผ่านหน่วยงาน 91 หน่วยงาน ปัจจุบัน มีคนไร้ที่พึ่งจำนวนกว่า 597 คน ได้มีอาชีพ รายได้ และพึ่งพาตนเองได้

ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวง พม. โดย พส. ได้ประสานความร่วมมือกับ กรุงเทพมหานคร ที่ดูแลรับผิดชอบสวนรถไฟ และบริษัท พนาทัศน์ จำกัด ที่มอบโอกาสในการมีงานทำแก่กลุ่มเปราะบางในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ด้วยเห็นถึงศักยภาพของคนไร้ที่พึ่งที่สามารถทำงานได้ ด้วยงานที่มีความเหมาะสมกับสภาพปัญหา ศักยภาพ และสมรรถภาพของคนไร้ที่พึ่ง คือ งานที่ใช้แรงไม่มาก สามารถทำซ้ำ ๆ ได้ ควบคู่ไปกับการฝึกสมาธิ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย จึงเป็นที่มาว่า “ปอดใหญ่ใจกลางกรุง” ซึ่งเป็นเนื้อที่กว่า 300 ไร่ ของสวนรถไฟ ที่ถูกปกคลุมด้วยร่มไม้และเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับให้บริการแก่คนเมืองได้พักผ่อนหย่อนใจอย่างมีความสุข โดยเบื้องหลังความสวยงาม สะอาด ปลอดภัยของสวนรถไฟ ถูกดูแลโดยคนไร้ที่พึ่งที่อาจจะมีภาวะบกพร่องทางร่างกายและจิตใจ จำนวนเพียง 65 คน ถูกจ้างโดยบริษัท พนาทัศน์ จำกัด ด้วยรายได้ขั้นต่ำ วันละ 331 บาทต่อคน ต่อวัน หรือเดือนละกว่า 7,900 บาท ถือเป็นการให้โอกาส ด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อสร้างสังคมให้น่าอยู่ อีกทั้งเป็นการทำงานที่ใช้ธรรมชาติบำบัดสำหรับคนไร้ที่พึ่งอีกด้วย

นายอนุกูล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ มีคนไร้ที่พึ่งที่เป็นผู้ใช้บริการในหน่วยงานสังกัด พส. จำนวนกว่า 5,300 คน และในจำนวนนี้ ไม่ได้มีความพร้อมในการทำงานทุกคน เนื่องจากส่วนใหญ่ มีปัญหาสุขภาพกาย โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูงถึงกว่าร้อยละ 51 มีปัญหาสุขภาพจิตที่ไม่รุนแรง มีปัญหาซ้ำซ้อน ทำให้การเตรียมความพร้อมมีความหลากหลาย และเงื่อนไขการรับสมัครงานของแต่ละสถานประกอบการส่งผลต่อการรับผู้ใช้บริการเข้าทำงาน เช่น ไม่มีวุฒิการศึกษา ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ไม่มีสมุดบัญชีธนาคาร เป็นต้น ทำให้มีผู้ใช้บริการที่มีความพร้อมในการทำงานเพียง 532 คน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนทั้งหมด

โดยจะมีทีมสหวิชาชีพในหน่วยงาน ร่วมกันประเมินศักยภาพและวางแผนฟื้นฟูรายบุคคล (Individual Rehabilitation Plan) และจัดกิจกรรมฟื้นฟูตามความเหมาะสม ซึ่งปัจจุบัน กระทรวง พม. โดย พส. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง กว่า 597 คน (จากเป้าหมาย 532 คน) เข้าไปทำงานอยู่ใน 131 สถานประกอบการ โดยแบ่งออกเป็น 1) สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จำนวน 309 คน 2) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิต จำนวน 127 คน และ 3) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จำนวน 132 คน ภายใต้หลักคิดที่สำคัญ คือ การเล็งเห็นศักยภาพในทรัพยากรบุคคล และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งคนไร้บ้านหรือทุกคนควรได้รับสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียม ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการทำงาน และบริการภาครัฐ ดังนั้น กระทรวง พม. โดย พส. จึงมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการเสริมสร้างทักษะอาชีพและมีรายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมตามศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย และมีการแสวงหาภาคีเครือจ่ายและสถานประกอบการที่สามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายที่มีสภาพปัญหาและพร้อมให้โอกาสเข้าไปทำงาน กว่า 274 แห่ง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น